บทนำเรื่อง...วันนี้ 31 ตุลาคม 2011 - 2554 คงเหลืออีกไม่ถึง - วันก็จะสิ้นปี 2554 ก่อนเข้าสู่เทศกาลกิน เจ ก็มีกิเลส หลังเทศกาลกิน เจ กิเลสก็ยังตามมาติด ๆ ทำงัยได้ในเมื่อยังเป็น(ปุถุชน)ซึ่งหนาแน่นไปด้วยกิเลส คราวนี้มีเรื่อง"กฏแห่งกรรม"นำมาแปะไว้ กฏแห่งกรรม ของ ท.เลียงพิบูลย์ซึ่งผมเคยฟังเมื่อหลายสิบปีผ่านมาแล้วในตอนที่ชื่อว่า ไม้เท้าคุณตา ผมก็ฟังตามคุณ แม่ ผมสมัยนั้นแม่มีวิทยุทรานซิสเตอร์ ไว้ฟังข่าวชาวบ้าน ซึ่งออกอากาศเวลา 8.00 น.อ่านข่าวโดย คุณ วุฒิ เววุจันทร์[/color]
ผมฟัง กฏแห่งกรรม ตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กวัยรุ่นอายุประมาณ 16 ขวบ จนถึง 20 กว่าขวบปีซึ่งอ่านออกอากาศที่สถานีวิยุ 01 ภาคพิเศษ อ่านโดย คุณ อาคม ทันนิเทศน์และคุณ อาคม ทันนิเทศน์ ได้จากโลกนี้ไปนานแล้ว(ประมาณปี 2545)
สำหรับ กฏแห่งกรรม ของ ท.เลียงพิบูลย์ซึ่งแต่ละตอนยาว ๆ ทั้งนั้นเมื่อก่อนผมฟังยังต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะจบ 1 ตอนที่นำมาแปะไว้ ใต้ร่มธรรม ยังไม่จบน่ะครับยังมีต่อ
ไม้เท้าคุณตา ตอนที่ 1
ครั้งหนึ่งเราเห่อถนนเปิดใหม่ ผ่านเมืองชายทะเล ข้าพเจ้ากับเพื่อนๆ ได้เดินทางท่องเที่ยวโดยรถยนต์ส่วนตัว ไปตามหมู่บ้านชายผงทะเลหลายแห่ง เมื่อเราไปตามถนนใหญ่ หากมีทางซอยพอที่จะตัดลงทะเลได้ พวกเราก็จะต้องไปให้ถึงชายทะเล ไม่ยอมผ่านไปโดยไม่ได้แวะดู ความตั้งใจก็อยากจะทราบประวัติของหมู่บ้าน เหตุการณ์ที่น่าสนใจ และการทำมาหากิน
ครั้งนั้น เราได้เข้าถนนซอยซึ่งตัดลงทะเลแต่ยังไม่เรียบร้อย เข้าไปถึงหมู่บ้านชาวประมงแห่งหนึ่ง ข้าพเจ้าได้มีโอกาสสนทนากับผู้เฒ่าหมู่บ้านนั้น ทั้งที่เราเป็นคนแปลกหน้าไม่เคยรู้จักกับท่านผู้เฒ่านั้นมาก่อน แต่ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดี ได้ทราบว่าท่านผู้นี้ชื่อ รุ่ง อายุย่างเข้าแปดสิบแล้ว ท่าทางแข็งแรงและว่องไว หูตายังดี พูดจาชัดเจน
พ่อเฒ่ารุ่งได้ชวนพวกเขาไปนั่งในบ้าน เมื่อรู้จุดประสงค์ของข้าพเจ้าแล้ว ท่านจึงพูดว่า ผมอยากทราบอะไรเกี่ยวกับหมู่บ้านนี้ก็ถามได้ เพราะพ่อเฒ่ารุ่งเป็นคนที่เกิดและเติบโตอยู่ในหมู่บ้านนี้ ไม่เคยไปอยู่ที่อื่นเลย
ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณผู้เฒ่าที่แสดงไมตรีจิตเป็นกันเองกับพวกเรา ให้เด็กยกหมากพลูบุหรี่มาต้อนรับ ทั้งยังสั่งให้พวกลูกหลานขึ้นต้นมะพร้าว เก็บมะพร้าวอ่อนมาเจาะให้พวกเราดื่มน้ำมะพร้าวที่หวานหอมชื่นใจทั่วทุกคน พวกเราอดที่จะขอบพระคุณพ่อเฒ่ารุ่งเสียมิได้ เราได้สนทนากันถึงเรื่องดินฟ้าอากาศ และการทำมาหากินของขาวหมู่บ้าน ไม่ช้าเราก็รู้สึกเกิดความสนิทสนมกัน คล้ายกับคนรู้จักกันมาเป็นแรมปี ตอนหนึ่งพ่อเฒ่ารุ่งได้พูดขึ้นว่าการทำมาหากินในเมืองไทยของเราเหมือน ๆ กันทั้งนั้นแหละคุณ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว แต่พวกเขาทำนาปลูกข้าวนั้นสบายกว่าพวกเราชาวทะเลหาปลามาก
ข้าพเจ้าบอกว่า ทรัพย์ในดินสินในน้ำ ต้องพึ่งพาอาศัยทางบกและทางน้ำสำคัญด้วยกัน ผมว่าพอ ๆ กันทั้งนั้นแหละครับ ข้าวก็ต้องกล้าลงทุน มีควายหว่านไถ ต้องอาศัยดินฟ้าอากาศ ถ้าปีไหนฝนตกต้องตามฤดูกาล ก็ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าน้ำมากเกินไปข้าวก็ล่ม ถ้าปีไหนฝนแล้งน้ำแห้ง ชาวนาก็น้ำตาตกแทนน้ำฝน จิตใจไม่ชุ่มชื่น ผมว่าหาปลาในน้ำจะได้เปรียบสบายกว่าเพราะสัตว์น้ำในท้องทะเลมากมายไม่มีขอบเขต
พ่อเฒ่าดูดบุหรี่ใบจาก อัดแล้วก็โยนทิ้งกระโถน แล้วหัวเราะหึ ๆ พูดว่า
ผมรู้ว่า คุณยังไม่เคยทำนา และไม่เคยทำทั้งประมงและหาปลา รู้แต่ว่าทรัพย์ในดินสินในน้ำเท่านั้น ความจริงชาวประมงหาปลาในท้องทะเล ก็ต้องอาศัยดินฟ้าอากาศเหมือนกัน ถ้าหากวันไหนมีพายุจัด ฝนตกหนัก ลมแรงท้องทะเลปั่นป่วนคลื่นใหญ่ ชาวประมงก็ไม่สามารถจะนำเรือออกจากฝั่งได้ เรือที่กำลังอยู่ในท้องทะเล เมื่อเกิดพายุใหญ่เข้าฝั่งไม่ทัน ก็ต้องผจญชะตากรรมอันน่ากลัว ที่ไม่ทันออกเรือก็ต้องนั่งกอดเข่าจับเจ่ามองดูท้องทะเลเป็นบ้า ลมแรงคลื่นใหญ่คิดเป็นห่วงพวกยังอยู่ในทะเล ถ้าใครขืนนำเรือออกไป ก็เท่ากับเอาชีวิตไปทิ้งในกลางทะเลเป็นเหยื่อปลา เพราะเรือพวกเราไม่ใหญ่โตแข็งแรงพอที่จะโต้คลื่นลมได้ บางครั้งพายุก็จัดเป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน ชาวประมงก็ต้องกินข้าวคลุกกะปิคลุกน้ำปลาเคยมีบ่อย ๆ
ข้าพเจ้าได้ความรู้จากพ่อเฒ่ารุ่งหลายอย่าง เพราะข้าพเจ้าไม่เคยเป็นชาวนา และไม่เคยเป็นทั้งชาวประมง ซึ่งทั้งสองอาชีพเป็นหลักสำคัญ จำเป็นที่จะเลี้ยงชีวิตพลเมืองของชาติ ให้มีการอยู่ดีกินดี นับว่าชาวประมงเป็นอาชีพเสี่ยงภัยมิใช่น้อย
เมื่อได้สนทนากันถึงเรื่องดินฟ้าอากาศและการทำมาหากินแล้ว ข้าพเจ้าจึงถามพ่อเฒ่ารุ่ง ถึงเรื่องประเพณีพื้นเมือง และเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในหมู่บ้าน หรือจำพวกนิทานที่เล่าสู่กันมาประจำพื้นบ้าน เพื่อประดับความรู้ เพราะข้าพเจ้าเคยรู้ว่าตามหมู่บ้านบางแห่งมีเรื่องนิยายลึกลับเกี่ยวกับทางทะเล หรือนิทานโดยเฉพาะแต่ละตำบลไม่ซ้ำแบบใคร มีทั้งเรื่องน่ารู้ น่าฟัง น่าสนใจและมีทั้งเป็นเรื่องธรรมดาแล้วแต่เหตุการณ์ หรือเรื่องที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน เล่าต่อ ๆ กันมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย
เมื่อได้สนทนากันแล้วข้าพเจ้าก็ได้เรื่องจากพ่อเฒ่ารุ่งได้กรุณาเล่าให้ฟังข้าพเจ้านำมาเติมแต่งคำพูดไม่ให้ผิดหลักเดิม ท่านจะคิดว่า เป็นนิทานหรือนิยายอ่านเล่น หรือจะเป็นเรื่องชีวิต ก็สุดจะอยู่ในความรู้สึกของท่านที่จะพิจารณาเอาเอง พ่อเฒ่ารุ่งเล่าให้ฟังว่า
เมื่อผมเด็ก ๆ พ่อแม่เล่าให้ฟัง เมื่อสมัยก่อนในหมู่บ้านเรานี้ มีครอบครัวหนึ่งมีอยู่ด้วยกันสามชีวิต ครอบครัวนี้มี พ่อ แม่ และลูกชายอยู่ร่วมร่มไม้ชายคาเดียวกัน แม้จะอยู่ในหมู่ชาวประมงและชายทะเล แต่คนในครอบครัวก็มีจิตใจเป็นกุศล เพราะต่างก็ไม่ยอมฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หรือหากินเป็นชาวประมงเหมือนชาวบ้านทั้งหลาย การเลี้ยงชีพของครอบครัวนี้ก็คือ ตัดฟืนขายบุคคลในครอบครัวนี้ พ่อชื่อ นายหมา แม่ชื่อ นางบาง ลูกชายชื่อ แสน
แม้เด็กชายแสนเวลานั้นจะมีอายุเพียง ๑๒ ขวบ ก็ช่วยพ่อแม่ทำงานทุกอย่าง เท่าที่เด็กขนาดนี้จะสามารถทำได้ นับแต่ตักน้ำ ผ่าฟืน หุงข้าว ซักผ้าตำข้าว นอกจากจะเป็นคนขยันขันแข็ง มีความกตัญญูต่อพ่อแม่แล้ว ยังเป็นเด็กที่มีนิสัยเรียบร้อย มีกิริยาวาจาสุภาพ ซื่อสัตย์ จึงเป็นที่รักใคร่เอ็นดูสงสารของชาวบ้านทั่วไป นอกจากจะเป็นที่รักใคร่ของชาวบ้าน แล้วแสนก็ยังเป็นที่รักใคร่ของพระสงฆ์ และท่านสมภารที่วัดที่อยู่ห่างจากบ้านขึ้นไปทางดอนเรียกว่า วัดดอนผักเบี้ย
เมื่อถึงวันโกนวันพระ ชาวบ้านเขาหยุดการสร้างบาป พากันไปทำบุญถือศีลที่วัด พ่อแม่ของแสนก็หยุดตัดฟืน เพื่อหาโอกาสไปวัดเพื่อรับศีลฟังธรรม แสนจึงหาโอกาสไปปฏิบัติพระสงฆ์ และขอให้ท่านพระครูได้ช่วยสั่งสอนให้ตนเล่าเรียนหนังสือ ท่านพระครูสงสารเอ็นดู เพราะเห็นเด็กชายแสนรักเรียน เอาใจใส่รักดี จึงสอนให้หัดอ่านหัดเขียน โดยมิได้มีความรังเกียจ และฝึกฝนวิชาความรู้ทางหนังสือให้เท่าที่แสนจะมีเวลาเรียนได้ เด็กชายแสนปัญญาไวสามารถเขียนได้อย่างรวดเร็ว ความคิดหลักแหลมเกินเด็กธรรมดารุ่นเดียวกัน แสนจึงเป็นที่เอ็นดูรักใคร่ของพระและเณรและท่านสมภารในวัดนั้น ทั้งแสนก็เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย กิริยาก็อ่อนน้อม เคารพต่อผู้ใหญ่ พ่อของแสนเล่าให้ท่านสมภาร ฟังว่า
เมื่อนางบางตั้งท้องเจ้าแสน อยากกินแต่เกสรดอกไม้และผลไม้ ส่วนของสดของคาวเพียงแต่ได้กลิ่นเหม็น จนเกิดอาเจียนออกมา เมื่อครบกำหนดจะคลอดเจ้าแสน ในเช้ามืดวันนั้นมีนกบินผ่านมาวนเวียนรอบ ๆ หลังคาบ้านมากมายนับไม่ถ้วน ไม่รู้ว่ามันมาจากไหน เสียงมันร้องเมื่อฟังดูเหมือนพากันร้องว่า แสน ๆ ๆ ๆ และก็ไม่รู้มันเป็นนกอะไร พอสว่างเจ้าแสนคลอดออกมาแล้วไม่รู้ว่าพวกมันบินหายไปไหนหมด พ่อแม่จึงตั้งชื่อมันว่า แสน
แสนเมื่อเป็นทารกคลอดออกมานั้น มีลักษณะผิวพรรณผุดผ่อง ผิดกับลูกชาวบ้านทั่วไป เสียแต่มีตำหนิข้างกกหูที่ทัดดอกไม้ มีรอยขูดเป็นทางคล้ายแผลเป็นมาแต่กำเนิด พ่อของแสนบอกกับท่านสมภารว่า ก่อนแสนมันจะเกิดนั้น แกเป็นชาวประมง หากินในทะเลเป็นลูกจ้างเขา จับโป๊ะบ้าง ลงเรือเบ็ดทะเลไปปักอวนดักจับกุ้ง ปลา เวลาน้ำลงบ้าง ถ้าว่าง ๆ ก็ลงทะเลไสเคยไสกุ้ง ลงเบ็ด จับหอยจับปูหากินกับทะเลตลอดมา
แต่พอนางบางตั้งท้องเจ้าแสนแล้ว นางบ้างก็รังเกียจนายหมา เมื่อกลับจากทะเลครั้งไร นางบางบ่นเหม็นคาวตัวนายหมาจนปวดหัว เข้าใกล้ก็อาเจียนไม่รู้จะทำอย่างไร ทั้ง ๆ ที่อาบน้ำจืดจนไม่มีกลิ่นปลาแล้ว นางบ้างก็ยังได้กลิ่นคาว นายหมาสงสารภรรยา ตกลงตัดสินใจเลิกออกหากินทางทะเลต่อไป แล้วหันมาหาเลี้ยงชีพตั้งต้นตัดฟืนขายเลี้ยงครอบครัวตลอดมา พ่อของแสนรำพึงกับท่านสมภารอย่างน้อยใจว่า
ใคร ๆ เขาก็ว่าเจ้าแสนคนนี้มันเป็นคนมีบุญมาเกิด มันคงทำให้พ่อแม่สบาย แต่มันไม่ได้ทำอะไรให้พ่อแม่ร่ำรวยขึ้นมา เหมือนเด็กมีบุญทั้งหลายที่เกิดมาโปรดพ่อแม่
ท่านสมภารหัวเราะ แล้วพูดว่า เจ้าแสนมันไม่ได้โปรดไปในทางโลก แต่มันก็ได้โปรดทางธรรม เพราะตั้งแต่เจ้าแสนเริ่มเกิดมานั้น มันทำให้พ่อแม่ของมันละการทำบาปผิดศีลไปสู่ทางดีทางชอบ นี่ก็มองเห็นแล้ว มันดียิ่งกว่ามันมาโปรดให้มั่งมีเงินทอง แต่จิตใจยังติดอยู่ในกิเลสลุ่มหลงในทรัพย์สินเงินทอง สร้างบาปกรรมไม่สิ้นสุด
ต่อมาได้มีผู้เฒ่าจะมาจากไหนไม่มีใครรู้ ได้จ้างชาวบ้านให้ปลูกบ้านพักอยู่ชายทะเลใหญ่โตแข็งแรง ชายผู้สูงอายุนี้ท่าทางกิริยาสง่า ชอบถือไม้เท้าเดินเล่นชายทะเลเสมอ ไม่มีใครทราบชื่อเสียงของท่านผู้เฒ่า และเหตุผลกลใด ที่ท่านต้องมาปลูกบ้านพักอยู่ริมทะเลที่ห่างไกลจากความเจริญ ควรจะอยู่เช่นในจังหวัดหรือบางกอก ไม่น่าจะมาอยู่ตำบลหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีแต่ความแห้งแล้ง ชุกชุมด้วยริ้นยุง ไม่ความสะดวกสบายเช่นนี้เลย นอกจากท่านผู้เฒ่ามาอยู่ชายทะเลแล้ว ยังมีผู้ติดตามมาปฏิบัติอีกผู้หนึ่งเป็นชาย ท่าทางแข็งแรงเหมือนคนเคยทำงานกลางแจ้งมาแล้ว อายุอ่อนกว่าท่านผู้เฒ่า มีร่างกายล่ำสัน มีความชำนาญแล่นเรือใบ เป็นผู้คอยติดตามรับใช้ผู้ภักดีมีสัตย์ชื่อเหมือนเงาตามตัว แสดงว่าเป็นบ่าวเป็นนายกัน ในท่าทีมิได้แสดงออกให้โจ่งแจ้ง...(ยังมีต่อ)
น ตํ ชิตํ สาธุ ชิตํ ย ํ ชิตํ อวชิยฺยติ
นะตังชิตังสาธุชิตังยังอะวะชิยะติ
ความชนะใดที่ชนะแล้วกลับแพ้ได้ ความชนะนั้นไม่ดี
อปฺปมตฺตา น มียนฺติ ผู้ไม่ประมาท ย่อมไม่ตาย